ควินิน ๒

Cinchona pubescens Vahl

ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกสีนํ้าตาลแตกตามขวาง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีกว้าง หูใบระหว่างก้านใบรูปรีแกมรูปขอบขนานช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีแดง กลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแยก รูปกระสวยแกมรูปไข่หรือรูปทรงกระบอกปลายแหลม เมล็ดจำนวนมาก ทรงรูปไข่ แบนมีปีกบางล้อมรอบ

ควินินชนิดนี้เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีน้ำตาล แตกตามขวาง กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยมและมีขนนุ่มหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีกว้างขนาดใหญ่มาก กว้าง ๑๐-๒๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ ด้านบนมีขนประปรายและร่วงง่าย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม และมักมีสีแดง แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๒ เส้น ใบแก่สีแดง ก้านใบยาว ๒.๕-๓.๘ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปรีแกมรูปขอบขนานปลายมน กว้าง ๐.๖-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๗-๓.๕ ซม. บางส่วนมีสีแดง ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีแดง มีกลิ่นหอม ใบประดับเล็ก ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยงสีแดงอมม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม มีขนสั้นนุ่ม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๓-๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๕-๖ มม. ด้านนอกมีขนสั้นหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง มีขนยาวนุ่มสีขาวตามขอบกลีบเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวพ้นหลอดกลีบดอกขึ้นมาเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแยก รูปกระสวยแกมรูปไข่หรือรูปทรงกระบอกปลายแหลม กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. สีแดง มีขนนุ่มหรือเกลี้ยง เมื่อแก่แตกตามรอยประสานจากโคนไปสู่ปลายผลเป็น ๒ ซีก ก้านผลยาวประมาณ ๕ มม. เมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. แบนมีปีกบางล้อมรอบ

 ควินินชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ นำไปปลูกในอินเดีย พม่า ศรีลังกา และอินโดนีเซีย (ชวา) พบขึ้นในดินร่วน บริเวณที่มีฝนตกชุกแต่น้ำไม่ขัง ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๐๐-๑,๘๐๐ ม. ในประเทศไทยนำเมล็ดมาปลูกที่จังหวัดเชียงใหม่

 ประโยชน์ ดูที่ควินิน ๑

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ควินิน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinchona pubescens Vahl
ชื่อสกุล
Cinchona
คำระบุชนิด
pubescens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Vahl, Martin (Henrichsen)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1749-1804)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย